เรื่องย่อ
ภาพชาวบ้านกลุ่มใหญ่พากันวิ่งหนีหญิงวัยกลางคนหุ่นแห้งผอมใบหน้าเรียบเฉยไปทั่วหมู่บ้าน บ้างวิ่งหลบเข้าไปแออัดจนส้วมพัง บ้างปีนขึ้นต้นไม้ บ้างหลบเข้าสุ่มไก่ แต่เด็ดสุดคือภาพจำคลาสสิกที่ชาวบ้านนับสิบหนีลงไปในตุ่มใบเดียวกัน ผู้หญิงคนนั้นคือใคร… เธอคือร่างที่ผู้คนหวาดกลัวและเรียกขานในชื่อ ‘ปอบหยิบ’ ซึ่งมักจะออกวิ่งไล่ล่าพร้อมท่าจกไส้ ตับ ไต และเครื่องในมนุษย์ คาแรกเตอร์ปอบหยิบนี้เองที่ทำให้ ณัฐนี สิทธิสมาน ถูกจดจำในระดับตำนานผีสุดคัลต์ของวงการภาพยนตร์ไทย ซึ่งยืนระยะต่อเนื่องมาได้ถึง 14 ภาค! นับตั้งแต่ปี 2532-2554 ย้อนเวลากลับไปในช่วงกลางปี 2532 ก่อนที่มันจะกลายเป็นตำนานหนังผีปนฮาระดับขึ้นหิ้ง บ้านผีปอบ (ภาคแรก) เคยออกอาละวาดและกวาดรายได้เป็นกอบเป็นกำในแนวทางหนังผีไทยสุดสยองมาก่อน กรุ๊ฟโฟร์ บริษัทผู้ผลิตหนุ่มน้องใหม่ในเวลานั้น เลือกที่จะฉีกแนวทางหนังผีให้แตกต่างจากตลาด ซึ่งหนัง ผีกระสือ และหนังตระกูล แม่นาคพระโขนง โดย สายยนต์ ศรีสวัสดิ์ ผู้รับหน้าที่เขียนบทและกำกับ ผุดไอเดียนำคาแรกเตอร์ผีปอบที่ชาวบ้านแถบภาคอีสานเล่าลือสืบต่อกันมาสร้างเป็นภาพยนตร์ หลังผ่านความสำเร็จจากภาคแรก บริษัท กรุ๊ฟโฟร์ และ สายยนต์ ศรีสวัสดิ์ จึงต่อยอดสร้างตำนานบ้านผีปอบ เน้นกลุ่มผู้ชมต่างจังหวัดตามออกมาอีกหลายภาค โดยเลือกที่จะบิดโครงเรื่องจากหนังผีแนวสยอง เปลี่ยนให้กลายเป็นหนังผีปนขำขัน เพื่อดึงดูดผู้ชมให้เข้าถึงง่าย โครงเรื่องของ บ้านผีปอบ นับตั้งแต่ภาค 2 ล้วนมีพื้นฐานใกล้เคียงกัน แต่ไฮไลต์สำคัญคือการออกอาวะวาดของปอบที่มักจะลงท้ายโดยการวิ่งไล่และวิ่งหนีเอาชีวิตรอดด้วยกลเม็ดเด็ดพรายที่แตกต่าง ซึ่งต่อมามุกวิ่งหนีและวิ่งไล่เหล่านี้ได้กลายเป็นภาพจำคู่กับหนังตระกูลบ้านผีปอบสืบต่อมา อาทิ มุกหนีผีลงตุ่ม หรือมุกการประดิษฐ์อุปกรณ์หนีผีที่ได้ทั้งเสียงฮาและเป็นกิมมิกเอาใจผู้ชมในหนัง บ้านผีปอบ ภาคต่างๆ “มุกลงตุ่มเริ่มมีมาตั้งแต่ภาค 2 ของ บ้านผีปอบ จากนั้นก็ถือเป็นมุกขายที่ต้องใส่ไว้เรื่อยมาแทบทุกภาค มันเกิดขึ้นจากการที่ผมไปดูโลเคชันก่อนเขียนบทที่จังหวัดสุพรรณบุรี แล้วพบว่าที่นั่นมีตุ่มเยอะมาก ทุกบ้านจะต้องมีตุ่มดินเพื่อเก็บน้ำไว้ใช้ “จริงๆ ผมเริ่มต้นคิดจากเทคนิคการถ่ายทำก่อน สมมติจะให้คนลงไปในนั้นสิบคน จริงๆ มันเป็นไปไม่ได้หรอก แต่มันเป็นเทคนิคทางด้านภาพ สมัยนี้คนอาจจะมองว่าเป็นเทคนิคพื้นๆ ธรรมดามาก แต่เมื่อสิบกว่าปีก่อนในยุคที่ยังไม่มี CG คนไทยน้อยมากที่รู้และทำเทคนิคแบบนี้เป็น และถึงทำเป็นก็ต้องรู้จักดัดแปลงนำมาใช้อีก” สายยนต์ ศรีสวัสดิ์ ผู้กำกับและผู้ปลุกปั้นภาพยนตร์ บ้านปีปอบ ตั้งแต่ภาค 1-7 เคยเล่าถึงความทรงจำเกี่ยวกับหนังผีสุดคัลต์ระดับตำนานเอาไว้ และจนถึงทุกวันนี้แม้จะมีหนังผีปอบออกมาอีกมากมาย แต่เชื่อเถอะว่า บ้านผีปอบ จะยังเป็นที่จดจำและพูดถึงในฐานะตำนานไปอีกนาน
รายการโปรด